10 เมนูอาหารเช้า กินแล้วลดพุง !!!

ในชั่วโมงเร่งด่วนของการเดินทางไปทำงานตอนเช้า หลายคนคงเข้าใจว่ามันช่างเร่งรีบต้องจัดการทุกสิ่งอย่างให้เร็วที่สุด 'อาหารเช้า' จึงต้องเป็นอะไรที่หาง่าย กินง่าย อยู่ท้อง เมนูยอดฮิตอย่าง หมูปิ้ง ไก่ทอด ปาท่องโก๋ จึงเป็นขวัญใจของทั้งคนทำงานรวมถึงน้องๆ วัยเรียนด้วย แต่! หลายคนคงลืมไปว่า ทั้งแป้งและไขมันทั้งหลายจากมื้อเช้าที่เรากินเข้าไปทุกวันนี่แหละ คือตัวการของ ‘ความอ้วน’ และถ้าไม่เปลี่ยนก็จะได้ ‘พุง’ ตามมาติดๆ

วันนี้เราจึงขอชวนชาวทรูยูมา ‘เปลี่ยนมื้อเช้า’ ให้เฮลทตี้มากขึ้น แต่รับรองว่ายังหาง่ายแถมอิ่มท้องเหมือนเดิม

เปลี่ยนจาก หมูปิ้ง เป็น ไข่ต้ม

 

เปลี่ยนจาก ไก่ทอด เป็น ไก่ย่าง

 

เปลี่ยนจาก ข้าวเหนียว เป็น กล้วยหอม

 

เปลี่ยนจาก ปาท่องโก๋  เป็น มันนึ่ง

 

 

เปลี่ยนจาก ข้าวขาว เป็น ข้าวกล้อง

 

เปลี่ยนจาก ขนมปังขาว เป็น ขนมปังโฮลวีท

 

เปลี่ยนจาก ไข่เจียว เป็น ไข่ตุ๋น

 

เปลี่ยนจาก ชาเขียวรสธรรมชาติ เป็น ชาเขียวไม่ใส่น้ำตาล

 

เปลี่ยนจาก กาแฟเย็นใส่นมข้น  เป็น กาแฟเย็นใส่นมถั่วเหลือง/ นมอัลมอนด์

 

เปลี่ยนจาก นมเปรี้ยว เป็น นมไขมัน 0%

 

แต่หากใครบอกว่า “โอ้ย…กินแบบนี้เบาไป” เราก็ยังมีเมนูแนะนำสำหรับคนจัดหนักอีกหลายเมนู อ่ะ ลองไปดูกัน

ถ้าเป็นร้านข้าวราดแกง สั่งแม่ค้าอย่าตักข้าวเกิน 2-3 ทัพพี แล้วเลือกกับข้าวประเภทผักที่ปรุงโดยใช้น้ำมันน้อย หลีกเลี่ยงเมนูที่มีน้ำราดประเภท ข้นๆ หวานๆ เหนียวๆ หรือสั่งรายการนั้นโดย “ไม่เอาน้ำราด” และเน้น “ขอผักเพิ่มด้วยจ้า”

 

เน้นเลือกอาหารที่ปรุงด้วยวิธี นึ่ง ยำ ลวก ต้ม ตุ๋น แทนเมนูทอด เมนูแกงกะทิ หรือเมนูที่ใช้น้ำมันมากๆ

 

ถ้าอยากกินก๋วยเตี๋ยว ก็ให้ใช้สูตร 2:1:1 คือเส้นประมาณ 1 ทัพพี ลูกชิ้นไม่เกิน 5-6 ลูก หรือถ้าเป็นหมูสับก็ประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ พูดง่ายๆ ว่าเส้นน้อยๆ เน้นผักเยอะๆ สำคัญตรงที่อย่าลืมบอกคนขายงดใส่น้ำมันกระเทียมเจียวด้วย แล้วก็ไม่ต้องใส่น้ำตาล น้ำปลาเพิ่มจากพวงเครื่องปรุงนะ

 

เมนูอย่าง ขาหมู ข้าวมันไก่ ก็กินได้นะ แต่ปรับนิดลดหน่อย ข้าวขาหมูก็ลดข้าวลง เลือกเอาเนื้อล้วนไม่ติดมัน ไม่เอาหนัง ราดน้ำน้อยๆ คะน้าเยอะๆ ถ้าข้าวมันไก่ก็ไม่เอาหนัง ดีกว่านั้นคือเปลี่ยนข้าวมันเป็นข้าวสวยธรรมดาหรือข้าวกล้อง ขอแตงกวามากหน่อย

 

ใครชอบไข่ดาว จะร้องว้าว ถ้าลองเปลี่ยนรสนิยมเป็นไข่ต้มหรือไข่ตุ๋น

 

ใครชินกับเครื่องดื่มหวานๆ ต้องค่อยๆ ปรับพฤติกรรม เริ่มจาก “ขอหวานน้อย” “ขอใส่น้ำเชื่อมหรือน้ำตาลน้อยๆ” รวมทั้งอาจจะเปลี่ยนครีมเทียมเป็นนมพร่องมันเนย นมขาดมันเนย นมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม และต้องค่อยๆ ลดความถี่ต่อสัปดาห์ลง เช่น จากวันละ 1-2 แก้ว ปรับเป็นสัปดาห์ละ 1-2 แก้ว ซึ่งถ้าเป็นไปได้ สุดท้ายควรต้องดื่มแต่น้ำเปล่าให้ได้วันละ 6-8 แก้ว จะดีที่สุด ขอบคุณข้อมูลจาก สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ